วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท 








แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กิโลเมตร 44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน

      บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500- 3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย
ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า “กู่ธารปราสาท” และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี






พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท

                                                                  
                                                                 

 ไกด์เยาวชนหมู่บ้านปราสาท

      พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท เป็นศูนย์ข้อมูลที่อธิบายถึงคุณค่าและความสำคัญ
ของหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบภายในบริเวณบ้านปราสาทใต้ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการขุดค้นและหลักฐานทางโบราณคดี
ในเขตอีสานใต้ รวมถึงข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านปราสาทนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน








Home stay หล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
มาตรฐานที่ได้รับ : ปี พ.ศ. 2547ปี พ.ศ. 2549
จุดเด่น : ตามรอยอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปี แหล่งหัตกรรมพื้นบ้าน และแหล่งโบราณคดี
ประเภทของโฮมสเตย์ : โฮมสเตย์สัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิต
จุดเด่น : ตามรอยอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปีแหล่งหัตถกรรมพื้นบ้านและแหล่งโบราณคดี
ช่วงเวลาท่องเที่ยว : กันยายน ถึง ธันวาคม ของทุกปี
ประวัติความเป็นมา :
โฮมสเตย์บ้านปราสาทเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานไทย ต้นแบบ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2536 เริ่มมาจากการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีเป็นโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา จากหลักฐานพบว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและเขมรโบราณนอกจากนี้ ททท. มีนโยบาย ที่เผยแพร่แหล่งโบราณคดี ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รู้จัก จึงนำนักศึกษามา พักรวมที่ชุมชนบ้านปราสาท เมื่อชุมชนมีศักยภาพและ ได้รับการสนับสนุนเงิน งบประมาณชุมชนจึงได้มีการจัดตั้งโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เนื่องจากชุมชนมีความพร้อมที่จะทำโฮมสเตย์ จึงเป็นที่มาของโฮมสเตย์บ้านปราสาท
กิจกรรม :
• ชมแหล่งโบราณคดีอายุ 2,500 - 3,000 ปี ชมอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 หลัง ที่แสดงประวัติและความเป็นมาของแหล่งโบราณคดี
• ชมหัตถกรรมพื้นบ้าน ทำหมวก กระเป๋า แฟ้มเอกสาร
• ชมกลุ่มผลิตสินค้าท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าโทเร
• ชมกลุ่มผลิตเครื่องดนตรีไทย การทำพิณ ซอด้วง ซออู้
• ชมกลุ่มสตรีทำขนมและอาหาร
• พิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น การดำนา เกี่ยวข้าว
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :
•อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
•วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
•ประสาทหินวัดพนมวัน
•อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ที่พัก : โฮมสเตย์ 33 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
อัตราค่าบริการ : - ค่าบริการที่พักรวมอาหาร ชาวไทย 300 บาท/คน/คืน - ค่าบริการที่พักรวมอาหาร ชาวต่างชาติ 400 บาท/คน/คืน (รวมอาหาร 2 มื้อ เช้า และ เย็น) - ค่าอาหารถ้าต้องการให้จัดเพิ่ม 50 บาท/คน/มื้อ - ค่าเยี่ยมชมและประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ (ไม่พัก) - ค่าอาหารชาวไทย (20 คน ขึ้นไป) 80 บาท/คน/มื้อ - ค่าอาหารชาวต่างชาติ (10 คน ขึ้นไป) 150 บาท/คน/มื้อ - ค่ากิจกรรม 2,500 บาท/คณะ
ติดต่อสอบถาม :
คุณเทียม ละอองกลาง
282 หมู่ 7 ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 30420
โทร 089-581-7870 โทรสาร 044-367-075
คุณจรัญ จอมกลาง
โทร 081-725-0791

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น