วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท 








แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กิโลเมตร 44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน

      บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500- 3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย
ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า “กู่ธารปราสาท” และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี






พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท

                                                                  
                                                                 

 ไกด์เยาวชนหมู่บ้านปราสาท

      พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท เป็นศูนย์ข้อมูลที่อธิบายถึงคุณค่าและความสำคัญ
ของหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบภายในบริเวณบ้านปราสาทใต้ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการขุดค้นและหลักฐานทางโบราณคดี
ในเขตอีสานใต้ รวมถึงข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านปราสาทนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน








Home stay หล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
มาตรฐานที่ได้รับ : ปี พ.ศ. 2547ปี พ.ศ. 2549
จุดเด่น : ตามรอยอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปี แหล่งหัตกรรมพื้นบ้าน และแหล่งโบราณคดี
ประเภทของโฮมสเตย์ : โฮมสเตย์สัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิต
จุดเด่น : ตามรอยอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปีแหล่งหัตถกรรมพื้นบ้านและแหล่งโบราณคดี
ช่วงเวลาท่องเที่ยว : กันยายน ถึง ธันวาคม ของทุกปี
ประวัติความเป็นมา :
โฮมสเตย์บ้านปราสาทเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานไทย ต้นแบบ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2536 เริ่มมาจากการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีเป็นโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา จากหลักฐานพบว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและเขมรโบราณนอกจากนี้ ททท. มีนโยบาย ที่เผยแพร่แหล่งโบราณคดี ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รู้จัก จึงนำนักศึกษามา พักรวมที่ชุมชนบ้านปราสาท เมื่อชุมชนมีศักยภาพและ ได้รับการสนับสนุนเงิน งบประมาณชุมชนจึงได้มีการจัดตั้งโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เนื่องจากชุมชนมีความพร้อมที่จะทำโฮมสเตย์ จึงเป็นที่มาของโฮมสเตย์บ้านปราสาท
กิจกรรม :
• ชมแหล่งโบราณคดีอายุ 2,500 - 3,000 ปี ชมอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 หลัง ที่แสดงประวัติและความเป็นมาของแหล่งโบราณคดี
• ชมหัตถกรรมพื้นบ้าน ทำหมวก กระเป๋า แฟ้มเอกสาร
• ชมกลุ่มผลิตสินค้าท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าโทเร
• ชมกลุ่มผลิตเครื่องดนตรีไทย การทำพิณ ซอด้วง ซออู้
• ชมกลุ่มสตรีทำขนมและอาหาร
• พิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น การดำนา เกี่ยวข้าว
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :
•อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
•วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
•ประสาทหินวัดพนมวัน
•อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ที่พัก : โฮมสเตย์ 33 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
อัตราค่าบริการ : - ค่าบริการที่พักรวมอาหาร ชาวไทย 300 บาท/คน/คืน - ค่าบริการที่พักรวมอาหาร ชาวต่างชาติ 400 บาท/คน/คืน (รวมอาหาร 2 มื้อ เช้า และ เย็น) - ค่าอาหารถ้าต้องการให้จัดเพิ่ม 50 บาท/คน/มื้อ - ค่าเยี่ยมชมและประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ (ไม่พัก) - ค่าอาหารชาวไทย (20 คน ขึ้นไป) 80 บาท/คน/มื้อ - ค่าอาหารชาวต่างชาติ (10 คน ขึ้นไป) 150 บาท/คน/มื้อ - ค่ากิจกรรม 2,500 บาท/คณะ
ติดต่อสอบถาม :
คุณเทียม ละอองกลาง
282 หมู่ 7 ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 30420
โทร 089-581-7870 โทรสาร 044-367-075
คุณจรัญ จอมกลาง
โทร 081-725-0791

บ้านธารปราสาท

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย


อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย 





อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม

ประวัติ
เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย
ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน
โบราณสถาน
ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นๆที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู้เมืองพิมายทางทิศใต้
สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย


พลับพลา ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"
สะพานนาคราช ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ

ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า

ชาลาทางเดิน
ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้
ซุ้มประตูและระเบียงคด
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651-1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนางมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
ปราสาทประธาน
เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศรรตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร
ปรางค์หินแดง
สร้างขึ้นราวปลายพุทธศรรตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่
หอพราหมณ์
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับบปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า
ปรางค์พรหมทัต
ลักษณะของปรางค์องค์นี้ สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประตูทำเป็นมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรมสำคัญ 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ สลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราขเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
บรรณาลัย
ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ปราสาทหินพนมวัน



 ปราสาทหินพนมวัน เป็นสถาปัตยกรรมในคติความเชื่อของเขมรโบราณ อยู่ห่างจากตัวเมืองโคราชไปตามเส้นทางถนนหลวงไปยังอำเภอพิมาย - ขอนแก่น ประมาณ 16 กิโลเมตร เมื่อติดแยกไฟแดงหนึ่งจะมีป้ายบอกทางเข้า ทางขวามือ มีลานอเนกประสงค์ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นจุดสังเกต เข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะมาสุดทางที่ตัวปราสาทหินพอดี
ปราสาทหินพนมวัน เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย สร้างขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ในสมัยแกะแกร์ - บาแค็ง เป็นปรางค์ 5 หลัง แล้วมาถูกสร้างทับในยุคใกล้เคียงกันอีก รวมเป็นอาคารอิฐทั้งหมด 10 หลังทางด้านทิศตะวันออกมี “บาราย” หรือสระน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชน เรียกว่า "สระเพลง" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงใช้ประโยชน์ได้อยู่ครับ
ในเขตที่ดอนของเมือง เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะบังเอิญในตอนขุดค้นเมื่อประมาณปี 2533 ก็ดันไปพบกับโครงกระดูกมนุษย์ใต้ฐานปราสาทประธาน ที่มีร่องรอยของพิธีกรรมการฝังศพแบบตั้งใจฝัง ไม่ใช่การฆาตกรรม ซึ่งคงไม่มีใครไปตามจับฆาตกร เพราะคงตายไปนานแล้วเหมือนกัน
โครงกระดูกประมาณว่าอายุในราว 2,000 – 2,500 ปี โดยดูจากภาชนะขัดมันดำที่เขาเรียกกันอย่างกิ๋บเก๋ว่า “ภาชนะแบบพิมายดำ” ที่ถูกนำมาฝังรวมอยู่กับศพตามความเชื่อ เพื่อให้ผู้ตายนำเอาไปใช้ในโลกหน้า
ชุมชนโบราณพนมวันมีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อไปยังลำน้ำขนาดใหญ่มานานแล้ว แต่ปัจจุบันขนาดของลำน้ำก็ลงไปมาก ลำน้ำนี้แหละคือถนนมิตรภาพโบราณที่เชื่อมชุมชนเมืองพนมวันกับชุมชนเมืองพิมายเข้าด้วยกัน ชุมชนเมืองพนมวันเปลี่ยนแปลงไปหลายยุคหลายสมัย เพราะมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง คงเป็นเพราะเมืองพนมวันเป็นที่ดอน ตั้งอยู่กลางไร่นาน้ำท่วมขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่โดยรอบ จนมาถึงในราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มมีการสร้างปราสาทแบบหินทรายขึ้น ซ้อนทับไปบนจุดเดิมที่เคยมีอาคารอิฐตั้งอยู่ในสมัยก่อนหน้า คงเพราะเป็นพื้นที่ที่มีฮวงจุ้ยหรือยันตรมณฑลเป็นมงคล จึงไม่ยอมย้ายที่ไปสร้างจุดอื่น อิฐของปราสาทเก่าได้กลายมาเป็นส่วนประกอบของปราสาทหลังใหม่ บางส่วนก็สร้างทับไปเลย แผนผังของปราสาทหินพนมวันมีรูปแบบเดียวกันกับปราสาทหินพิมาย จึงน่าจะสร้างในยุคไล่เลี่ยกันคือในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะร่วมแบบบาปวน


ขั้นตอนในการสร้างปราสาทพนมวัน คงเริ่มต้นจากการรื้ออาคารอิฐในยุคก่อนหน้าออกไปพร้อม ๆ กับการสร้างใหม่ ชุมชนก็คงมาตั้งอยู่ใกล้กับบาราย ส่วนครัวเรือนของเหล่าช่างแขนงต่าง ๆ ก็น่าจะมาตั้งบ้านเรือนใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง เพราะปรากฏร่องรอยของเตาเผาภาชนะดินเผาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
การก่อสร้างคงยากลำบากไม่น้อยเพราะแถบนี้ไม่มีภูเขาหินทราย จึงต้องไปเอาหินทรายมาจากที่ไกลแล้วขนมา จึงใช้หินทรายแดงที่มีคุณภาพต่ำผสมกับหินทรายสีขาวเทาเพราะแหล่งวัตถุดิบที่ใกล้สุดมีหินทรายทั้งสองสีผสมกัน ช่างคงแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ ส่วนที่เป็นแรงงานในการขนย้ายหินมาจากภูเขาที่อยู่ห่างไกลออกไป ส่วนที่ประกอบหิน ส่วนที่ขัดผิวหน้าโกลนหิน ส่วนช่างแกะสลักลวดลายส่วนเช่น หน้าบัน ทับหลัง เชิงชาย เสาลายลูกมะหวด ฯลฯ
รากฐานของปราสาทจะอัดทรายแล้วปูพื้นด้วยศิลาแลงชั้นหนึ่ง แล้วนำหินทรายสีขาวเทาที่มีความแข็งแรงมาเป็นฐานชั้นบน ช่างในส่วนที่ทำระเบียงคดและโคปุระ ก็ได้ขึ้นเสาหน้าต่าง เจารูเสาเป็นเดือยเพื่อเตรียมใส่เสาลายลูกมะหวด แต่ก็ยังใส่ไม่หมด เพราะในส่วนหลังคายังไม่ได้สร้างขึ้นไป
การก่อสร้างดูสะเปะสะปะ หินทรายใหญ่เล็กคนละสีก็มาเรียงกันสลับไปมาเป็นผนังได้ในทางทิศใต้ แต่ในส่วนอื่น ๆ กลับก่อผนังระเบียงได้เพียงบางส่วน
ปราสาทประธานก็มีร่องรอยการแกะสลักเสาขอบประตู เป็นลายก้านต่อดอกในหลายจุด แกะสลักทับหลังได้เพียงสองถึงสามชิ้นเท่านั้น เรือนยอดปราสาทก็น่าจะก่อขึ้นไปจนสำเร็จจนถึงบัวกลุ่มยอดปราสาท ส่วนฐานก็มีการขัดโกลนหินให้ผิวหน้าเสมอกันเพื่อเตรียมแกะสลักเป็นฐานเขียง
หลังการสร้างไม่นานส่วนเรือนปราสาทประธานคงพังถล่มลงมา หลังจากนั้นจึงมีการสร้างปรางค์น้อยที่นำวัสดุของปราสาทประธานที่พังลงมานั่นแหละเอามาทำ แล้วจึงมีการนำพระพุทธบาทหินทรายแดงมาประดิษฐานไว้ในสมัยต่อมา
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือผู้แทนพระองค์ก็น่าจะเสด็จมาที่พนมวันสักครั้งหนึ่ง จึงเกิดการสร้างพลับพลาชัยวรมันที่เนินนางอรพิมขึ้น แล้วจึงถวายพระชัยพุทธมหานาถและพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์อโลเกศวรองค์ต่าง ๆ ของนิกายวัชรยานตันตระไว่ในตัวปราสาทที่ทิ้งร้างและสร้างไม่เสร็จมาในยุคก่อนหน้า
      จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร ทำให้เรารู้ว่า     ปราสาทหินพนมวันสร้างขึ้นเป็นจน      เป็นยอดปราสาทโดยสมบูรณ์    แต่ก็พังทลายแบบถล่มลงมาอย่างรุนแรง ทำให้ชิ้นส่วนรูปสลักที่มีอยู่ไม่มากนักกระทบกันจนแตกหัก เรือนยอดปราสาทแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กจนยากที่จะซ่อม หน้าบันก็มีหลงเหลือจนเกือบครบทุกด้าน มีทั้งที่ยังไม่เริ่มแกะสลักไปจนถึงแกะสลักเสร็จแล้ว
เรือนปราสาทที่พังถล่มลง และชิ้นส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมทั้งหมด ถูกนำมาเรียงไว้บริเวณลานด้านนอกทางทิศตะวันตก มีบัวกลุ่มยอดปราสาทที่สมบูรณ์สวยงามรวมทั้งเครื่องประดับ เครื่องบน รูปสลักเชิงชาย หน้าบันและร่องรอยชิ้นส่วนศิลปกรรม ส่วนที่สลักไว้ก็สวยงามจริง ๆ ส่วนที่จะไม่สลักก็ไม่แกะสลักเอาเลย สร้างแบบค้าง ๆ คาเอาไว้ !!!
ชาวบ้านในเขตท้องถิ่นโคราช มีเรื่องเล่าหรือนิทานท้องถิ่น (Folk Tale) ที่เล่าถึงความไม่สมบูรณ์ของปราสาทหินพนมวันไว้ว่า
"....เมื่อกาลครั้งหนึ่ง ที่ผู้ชายกับผู้หญิงเริ่มมีความบาดหมาง ไม่เข้าใจและทะเลาะกันบ่อยครั้ง ความรักเริ่มห่างหาย เพราะเหตุด้วยผู้ชายชอบวางอำนาจ ทำตัวเป็นเจ้านาย ถือว่าตัวมีร่างกายกำยำและกำลังที่แข็งแรงกว่า
เหล่าผู้หญิงเลยมารวมตัวปรึกษากัน ครั้นจะลงโทษไม่ให้ฝ่ายชายเข้าบ้าน ไม่ให้ร่วมหลับนอนด้วยก็กลัวว่าจะถูกใช้กำลังบังคับ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.ข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตัวเองโดยไม่ยินยอม ก็อาจจะพลาดท่าเสียทีได้
ครั้นจะไม่ยอมทำอาหารให้ ผู้ชายก็คงหากินได้เอง ไอ้ที่เดือดร้อนก็เห็นจะเป็นลูกเด็กเล็กแดงที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จะพาลเดือดร้อนไปด้วย
เมื่ออดรนทนไม่ไหว จึงประกาศขอประลองกำลัง ท้าทายฝ่ายชายด้วยการแข่งขันสร้าง "ปราสาทหิน"
ฝ่ายชายก็รับคำท้า โดยสัญญาถ้าหากฝ่ายชายของตนพ่ายแพ้ ก็จะยอมเป็นเบี้ยล่างให้เหมือนวัวควาย แต่ถ้าหากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแพ้ ก็จะต้องเป็นนางทาสประจำบ้านไปตลอดกาล (ซึ่งปกติก็คล้าย ๆ อยู่แล้ว)
ทั้งสองฝ่ายตกลงว่า ถ้าฝ่ายใดสร้างปราสาทหินเสร็จก่อน ก็จะต้องส่งสัญญาณโดยปล่อยโคมโลมขึ้นสู่ท้องฟ้าให้อีกฝ่ายเห็น
ฝ่ายหญิงก็รู้ตัวดีว่า ศึกประลองกับชายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จึงขอไปสร้างปราสาทในที่ไกลบ้าน โดยอ้างว่า ถ้าผู้ชายอยู่ใกล้จะทำให้เสียเปรียบ เพราะจะได้ยินคำนินทาว่าร้าย ถากถางว่าร้าย พาลทำให้เสียกำลังใจ !!!
ฝ่ายชายก็ตกลงเป็นมั่นเหมาะ เพราะก็คงอยากจะรีบแข่งขันให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จะได้มีข้าทาสคนใหม่มาใช้ให้หนำใจ
ฝ่ายหญิงจึงรวมตัวกันทั้งหมู่บ้านเดินทางไปยังเมืองพิมาย แล้วก็เริ่มสร้างปราสาทหินพิมายขึ้นอย่างใหญ่โต
ฝ่ายชายที่อยู่ในหมู่บ้านก็เร่งสร้างปราสาทหินพนมวันที่มีขนาดเล็ก เพราะไม่รู้จะสร้างใหญ่ไปทำไม ไม่ได้ตกลงเรื่องขนาดก็เอาไว้นี่หว่า เพียงยกแรกฝ่ายชายก็เป็นต่อหลายขุม เพราะผู้หญิงทำอะไรคิดมาก ชอบคิดเล็กคิดน้อย ไม่ประมาณตัว ไม่ชอบวางแผน ปราสาทหินเลยออกมาใหญ่โต
ฝ่ายหญิงก็ละเมียดละไมในการแกะสลัก ฝ่ายชายก็สร้างไปถมไป ก่อไปจนยอดก่อนแล้วกะว่าจะกลับมาแกะสลักทีหลัง
จนปราสาทหินพนมวันของฝ่ายชายสร้างขึ้นไปถึงยอดและแกะสลักบัวกลุ่มยอดปราสาทให้สวยงามเป็นอันดับแรก เพื่อประกาศศักดาข่มขวัญ ซึ่งก็ได้ผล ฝ่ายหญิงเห็นยอดปราสาทก่อขึ้นมาก็ให้ตกใจ เสียขวัญกันใหญ่ ก็ผู้ชายเขาร่วมมือร่วมใจกัน งานนี้ฝ่ายหญิงเราเสร็จแน่ ๆ
แต่ในหมู่ของสตรีก็มีสติปัญญาเป็นอาวุธที่สำคัญ พวกเธอจึงปรึกษากันว่า เราพลาดมากันแล้วที่ก่อปราสาทใหญ่จนเกินไป ฝ่ายชายอีกไม่กี่วันก็คงจะสร้างเสร็จ จึงคิดออกอุบาย สร้างโครงไม้ขึ้นเป็นยอดปราสาท ห่อหุ้มด้วยผ้าขาว ทำให้ปราสาทหินพิมายมีสีขาวเด่น มองเห็นได้มาแต่ไกล แล้วจึงให้ปล่อยโคมลอยขึ้นท้องฟ้าในค่ำคืนนั้น รวมทั้งจัดงานเฉลิมฉลอง เต้นรำส่งเสียงกันเป็นที่สนุกสนานเพื่อให้ดูสมจริงสมจัง
ฝ่ายชายเห็นโคมลอย ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ จึงส่งหนุ่มน้อยหน้ามนตร์มาเป็นสปาย แอบไปดูว่าฝ่ายหญิงว่าสร้างปราสาทเสร็จจริงแล้วหรือ ชายหนุ่มก็แอบล่องเรือขึ้นมา แล้วจึงถือโอกาสแวะมาหาคนรักที่ต้องแยกกัน เพราะต่างต้องมาช่วยฝ่ายของตัวเองในการแข่งขัน !!!
หนุ่มมาเจอสาวเป็นยาม จึงเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงด้วยความคิดถึง หันไปเห็นปราสาทขาวแต่ไกล ก็ยังไม่เชื่อสนิทใจ แต่สาวเจ้าผู้เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ ก็ได้โปรยพิศวาสและโอ้โลมรักให้หนุ่มคนรัก เพื่อให้เชื่อสนิทใจว่า ปราสาทของฝ่ายหญิงสร้างเสร็จแล้วจริง ๆ
เมื่อความรักมันยิ่งใหญ่กว่าการแข่งขัน หนุ่มน้อยจึงเดินทางกลับมายังหมู่บ้านแล้วแจ้งข่าวกับหัวหน้าฝ่ายชายว่า ปราสาทฝ่ายหญิงสร้างเสร็จแล้วตามที่ให้สัญญาณโคมลอยมาทุกประการ
หัวหน้าฝ่ายชายและทีมงานช่างผู้เข้มแข็ง ก็ให้รันทด มือไม้อ่อนแรงลงเพราะพ่ายแพ้ต่ออิสตรี จึงหันไปหาไหเหล้า"อุสาโท"มาดื่มเพื่อย้อมใจ ไหน ๆ ก็จะกลายเป็นขี้ข้าภรรยาตัวเองตามที่ลั่นสัจจะวาจาไว้ ศักดิ์ศรีและความทรนงแห่งความเป็นชายหายไปจนสิ้นแล้ว ฮือ ๆ
บางคนก็ยังคงแกะสลักต่อ แต่ผู้ชายส่วนใหญ่ก็หยุดสร้างและไม่อยากจะแกะสลักต่อไปอีกแล้ว บางคนก็เลยประชดด้วยการไปรื้อหินส่วนที่สร้างขึ้นไปแล้วลงมา ไหน ๆ ก็แพ้แล้วนี่หว่า
หนุ่มน้อยก็พาเพื่อนหนุ่มทั้งหลายไปที่เมืองพิมาย เพื่อแจ้งข่าวการยอมแพ้ แต่เมื่อไปถึง ก็พบว่าฝ่ายหญิงก็ยังสร้างปราสาทไม่เสร็จ ในทีแรกก็คิดจะโกรธ แต่จะโกรธไปทำไม ในเมื่อคนที่เขา"รัก"ต่างก็ต้องมาตกระกำลำบาก ใช้แรงงานเพื่อสร้างปราสาทขนาดใหญ่ แข่งขันประลองเพียงเพื่อต้องการให้ชายรู้สำนึกว่า ควรจะให้เกียรติ ดูแลทะนุถนอม เอาใจใส่พวกเธอบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ชายไม่อยากจะทำ แต่ก็คงหลงลืมไปบ้าง หลังจากได้อยู่กินเป็นผัวเมียจนเคยตัว
ชายหนุ่มทั้งหลาย ก็เลยตัดสินใจลงมือช่วยฝ่ายหญิงให้สร้างปราสาทหินพิมายจนสำเร็จสะเด็ดน้ำ กลายเป็นปราสาทที่มีลวดลายแกะสลักที่งดงาม เป็นดั่งอนุสรณ์สถานแห่งความรักและความเข้าใจที่กลับคืนมาของหญิงและชาย
ในขณะที่ปราสาทหินพนมวัน ไร้ร้างและไม่สมบูรณ์ ดั่งอดีตของความขัดแย้งเพราะไม่เข้าใจกัน ซึ่งจะไม่มีทางสมบูรณ์เลย หากทั้งสองฝ่ายไม่ยอมหันหน้าเข้าหากัน ยอมได้ก็ควรยอม
ผู้ชายบ้านพนมวันจึงยอมรับ ไม่โกรธเคืองอุบายของฝ่ายหญิง ที่ทำไปเพราะอยากจะสอนให้พวกเขาเป็นชายสมชาย และที่สำคัญ ความคิดถึงเมื่อยามต้องห่างไกลกันของทั้งสองฝ่าย ก็ได้ละลายความบาดหมางที่มีอยู่มลายหายไปจนสิ้น
เพราะเหตุหญิงชายต่างได้หยุดสร้างความไม่เข้าใจกันลงได้ ปราสาทหินพนมวันจึงหยุดสร้างและไม่เคยสร้างต่อ นับแต่วันที่ "ความรัก" ได้กลับคืนมา.....สู่บ้านพนมวันในครั้งนั้น....!!! ”