วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เขื่อนลำตะคอง สวนท้าวสุรนารี ศูนย์สารสนเทศลิปพัลลภ


เขื่อนลำตะคอง สวนท้าวสุรนารี ศูนย์สารสนเทศลิปพัลลภ


ลำตะคอง คือสายน้ำสำคัญเส้นหนึ่งของชาวโคราช หลังจากสร้างเขื่อนลำตะคอง เมื่อปีพ.ศ. 2512 แล้วจึงเกิดทะเลสาปกว้างใหญ่ที่งดงามโดยเฉพาะยามพระอาทิตย์อัสดงสะท้อนบนแผ่นน้ำ เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนดิน ที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภค และบริโภค และลดความรุนแรงของอุทกภัย
ริมเขื่อนมีที่ให้นั่งหย่อนอารมณ์ และร้านอาหารท้องถิ่นประเภท ไก่ย่าง และส้มตำรสเด็ด หรือผู้ที่ขับยวดยานต์ผ่านไปบนถนนมิตรภาพ ก็สามารถชมวิวทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคองได้เช่นกัน
สร้างปิดกั้นลำตะคอง ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขื่อนดินสูง 40.30 เมตร สันเขื่อนยาว 521 เมตร เก็บน้ำได้ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างพ.ศ. 2507 เสร็จพ.ศ. 2512 ใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝน 127,540 ไร่ และในฤดูแล้งอีก 50,000 ไร่ รวมทั้งใช้เพื่อการประปาในเขตอำเภอสีคิ้ว อำเภอโนนสูง อำเภอขามทะเลสอ และเขตเทศบาล นครราชสีมาเพื่อโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อบรรเทาอุกทกภัยในลุ่มน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำมูลให้ ลดน้อยลง
เขื่อน ลำตะคอง ตั้งอยู่ตำบลลาดบัวขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖๒ กิโลเมตร มีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-สระบุรี) บริเวณกิโลเมตรที่ ๑๙๖-๑๙๗ ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นลำตะคองที่ช่องเขาเขื่อนลั่นและช่องเขาถ่านเสียดในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อนำน้ำเหนือเขื่อนมาใช้ประโยชน์ในด้านชลประทาน นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวบนสันเขื่อนเพื่อชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามเหมาะสำหรับพักผ่อนในยามแดดร่มลมตก เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๘.๐๐น. 
สวนท้าวสุรนารี ดูแลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของนครราชสีมา ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่และเขื่อนลำตะคอง เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคอง เป็นสวนป่ากึ่งรุกขชาติและพฤกษศาสตร์ รวมไม้หายากของภาคอีสาน 100 กว่าชนิด พร้อมบริเวณที่พักผ่อน สวนหย่อม ประติมากรรมพานบายศรีทางเดินและทางวิ่ง สวนสุขภาพ และซุ้มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP
ประติมากรรมพานบายศรี
   หลังจากที่เดินชมสวนท้าวสุรนารีแล้ว แนะนำว่าให้ขับรถไปอีก 1 กิโลเมตรจะถึงที่พักริมทาง และศูนย์สารสนเทศลิปพัลลภ ระยะทาง 1 กิโลเมตรระหว่างสวนท้าวสุรนารี และ ที่พักริมทาง จะมีร้านอาหารมากมาย ตั้งอยู่ริมเขื่อนลำตะคลอง

อนุสรณ์สถานพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจาก สส. นครราชสีมา บนมอเตอร์ไซค์
เมื่อขับรถเข้ามาถึงที่พักริมทาง จะเจอกับอนุสรณ์สถานพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (สวนน้าชาติ) เป็นหินแกะสลักสีเขียว ขับรถไปตามทางอีกนิดนึงจะเจอกับ ศูนย์สารสนเทศ ลิปตพัลลภ
ศูนย์สารสนเทศ ลิปตพัลลภ เกิดขึ้นในสมัยที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้กรรมทางหลวง ก่อสร้างและปรับปรุงที่พักริมทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่ ได้เป็นที่พักรถ เปลี่ยนอิริยาบถ เข้าห้องน้ำ และมีบริการข้อมูลทางหลวง โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และผู้มีจิตศรัทธา ได้บริจาคเงินจำนวน 11 ล้านบาทในการก่อสร้างที่พักริมทางแห่งนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อ ศูนย์สารสนเทศ ลิปตพัลลภ


เขื่อนลำพระเพลิง
ชื่อทางการเขื่อนลำพระเพลิง
ที่ตั้งอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
ความยาว21 กิโลเมตร
เริ่มต้นการก่อสร้างพ.ศ. 2505
วันที่เปิดพ.ศ. 2510

เขื่อนลำพระเพลิง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยกั้นน้ำที่ภูเขาโซ่ และภูเขาหลวงที่ประชิดกันบริเวณบ้านบุหัวช้าง ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม และป้องกันอุทกภัย เขื่อนนี้เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2510 อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน

การเดินทาง

ลักษณะของเขื่อนเป็นทะเลสาบยาวไปตามลำน้ำ จากหน้าเขื่อนประมาณ 21 กิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 320 ล้านลูกบาศก์เมตร และเหนือเขื่อนมีอาณาเขตรับน้ำกว้างถึง 807 ตารางกิโลเมตร โดยทะเลสาบเหนือเขื่อนนั้นมีภูมิประเทศที่สวยงาม สองฟากฝั่งมีป่าไม้เขียวขจีร่มรื่น ตอนต้นแม่น้ำมีน้ำตกคลองกี่ น้ำตกขุนโจร น้ำตกละอองชมพู ทำให้เขื่อนลำพระเพลิงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการมาพักผ่อน ตกปลา ตากอากาศชมวิวทิวทัศน์ริมอ่างเก็บน้ำ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอปักธงชัย และจังหวัดนครราชสีมา

ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) จากจังหวัดนครราชสีมา เข้าอำเภอปักธงชัยไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะพบสี่แยก เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 28 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งมีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวไว้พร้อม
นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเหมาเรือหางยาวไปชมบรรยากาศภายในอ่างเก็บน้ำ เที่ยวน้ำตกคลองกี่หรือน้ำตกขุนโจนได้ โดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง









 จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ.ปักธงชัย

 จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม แหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงวัฒนธรรมอีสานที่มุ่งสืบสานภูมิปัญญาและสานต่อองค์ความรู้แห่ง "ถิ่นอีสาน" ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ชวนนักท่องเที่ยวสนุกสุขสันต์รับลมหนาวท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม ให้คุณได้เพลิดเพลินครบรส ทั้ง "ชม ชิล ช้อป" กับ "จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ 2558 : มังมูน บุญข้าว" (Jim Thompson Farm Tour 2015 : Mang Moon Boon Khao) 

          สัมผัสมนตร์เสน่ห์แห่งความสวยงามของธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ กับ 5 จุดท่องเที่ยวยอดนิยมบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ พร้อมเรียนรู้จิตวิญญาณแห่งความเป็น "อีสาน" ผ่านความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิมหลากหลายรูปแบบ ตื่นตาตื่นใจไปกับกิจกรรมไฮไลท์ประจำปี "มังมูน บุญข้าว" ที่นำเสนอเรื่องราวความผูกพันระหว่าง "ข้าว" กับ "วิถีชีวิตชาวอีสาน" ในแง่มุมของประเพณีวัฒนธรรม พร้อมชมกระบวนการผลิตผ้าไหมอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ก่อนปิดท้ายทริปด้วยการสนุกช้อปของฝากคุณภาพเยี่ยมจากจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม







วิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ อ.บ้านไร่
ด้วยความอุตสาหะและความสามัคคีของชาวบ้าน ทำให้เกิดวิหารเซรามิคโมเสกกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย! สร้างขึ้นจากความตั้งใจของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่ต้องการให้คนเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างง่ายๆ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่สุดแสนอลังการ ตั้งแต่ รูปปั้นพญานาค19 เศียร ประตูท้าวจตุโลกบาล และเศียรช้างขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สุดแสนจะจรรโลงใจ ต้องไปให้เห็นกับตา









ย่าเหลือ



นางสาวบุญเหลือ หรือ ย่าเหลือ บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะวีรสตรี ที่มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เมืองนครราชสีมาร่วมกับท้าวสุรนารี จากการเข้ายึดตีเมือง ของกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ ปี พ.ศ. 2369ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3


ประวัติ และวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ

นางสาวบุญเหลือ เป็นบุตรีของ หลวงเจริญ กรมการผู้น้อยแห่งเมืองนครราชสีมา ครอบครัวของหลวงเจริญ มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเคารพนับถือ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา และคุณหญิงโม เป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดเมือง และคุณหญิงโม ไม่มีบุตร และธิดา จึงได้รัก และเอ็นดูนางสาวบุญเหลือ ดุจว่าเป็นลูกหลานแท้ ๆ 
เมื่อ ปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่า มีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้น มีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวมอยู่ด้วย
ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369  คุณหญิงโม ร่วมกับ นางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ
และในเหตุการณ์ครั้งนั้น นางสาวบุญเหลือได้เสียสละพลีชีพด้วยการนำไม้ฟืนจากกองไฟ วิ่งหลอกล่อทหาร ตรงไปยังกองเกวียน กระสุนดินประสิวของกองทัพทหารลาว จนเกิดการระเบิด แสงเพลิงแดงฉานไปทั่วท้องทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการตัดสินใจด้วยปฏิภาณอันห้าวหาญ เด็ดเดี่ยวในวีรกรรมครั้งนี้ ของนางสาวบุญเหลือ ยังคงประทับแน่นอยู่ในความทรงจำ ของลูกหลานชาวนครราชสีมาตลอดไม่รู้ลืม และต่อมาทางราชการ ได้ถือเอาวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็น วันไทยอาสาป้องกันชาติ


อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 12.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205(ถนนสุรนารายณ์)สายนครราชสีมา - ชัยภูมิ ชาวนครราชสีมาได้ร่วมสร้างขึ้น และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา ที่ได้พลีชีพเพื่อปกป้องชาติ เมื่อครั้งวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ในปีพ.ศ. 2369 นับเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวนครราชสีมา ให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง
จังหวัดนครราชสีมา และประชาชนชาวนครราชสีมาพร้อมใจกันสร้าง และทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ขึ้นที่โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ เมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธาน และได้มีการกำหนด ให้ทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดี วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมกันสดุดี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าตะเบงมาน ตามสีแห่งปี มอบพวงมาลัย และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

หาดจอมทอง



หาดจอมทอง อยู่ในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนลำมูลบน ใกล้กับเขาจอมทอง ตำบลจระเข้หิน มีความกว้างของหาดจากแนวริมน้ำขึ้นมาเฉลี่ย 80 เมตร ยาว 800 เมตร โดยทำการลงทรายหยาบตลอดแนวทั้งหมด ความหนาของทรายประมาณ 10 เมตร เป็นชายหาดที่เสมอเรียบตามแนวระดับน้ำ ทำให้มีบริเวณพื้นที่ชายหาดและบริเวณที่สามารถลงเล่นน้ำได้ มีบริการให้เช่าห่วงยาง เรือถีบ เก้าอี้พับ ร่มชายหาดและเรือแพอีกด้วย 


การเดินทาง มี 2 เส้นทางคือ
1.จากตัวจังหวัดนครราชสีมา ใช้เส้นทางนครราชสีมา-โชคชัย-ครบุรี ระยะทาง 52 กิโลเมตรถึงตัวอำเภอครบุรี ใช้เส้นทางถนนลาดยางชลประทานมูลบน-ลำแชะ ที่อำเภอครบุรี-หาดจอมทอง ระยะทาง 17 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวจังหวัดนครราชสีมา-ครบุรี-หาดจอมทอง ประมาณ 69 กิโลเมตร
2.จากตัวจังหวัด ไปอำเภอปักธงชัย จนถึงสามแยกปอแดง(ทางหลวงหมายเลข 304 -กบินทร์บุรี) เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางชลประทาน-ปอแดง ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงเขื่อนมูลบนจากเขื่อนฯไปอีก 5 กิโลเมตรถึงหาดจอมทอง รวมระยะทางจากตัวจังหวัดนครราชสีมา-ปักธงชัย-หาดจอมทอง ประมาณ 60 กิโลเมตร


หาดชมตะวัน

หาดชมตะวัน อยู่ในความรับผิดชอบของที่ทำการเขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 4 (ลำปลายมาศ) ซึ่งดูแลรักษาพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติทับลานด้านอำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว พื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำได้รับการพัฒนาให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนและเป็นที่ประกอบอาชีพของชาวบ้านลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า นักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นน้ำและรับประทานอาหาร รวมทั้งยังชมทิวทัศน์อันสวยงาม หรือพักแค้ม ปิ้งได้ อาจเช่าเรือหางยาวล่องไปตามลำน้ำ เดินป่าชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น วังผีเสื้อ (มีเฉพาะในฤดูหนาว) ถ้ำพระ ถ้ำคอมมิวนิสต์ ที่มีตัวอักษรเขียนที่ผนังถ้ำว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” และ ต้นตะเคียนทองยักษ์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพันปี ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 4444 8386  สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๖ บ้านราษฎร์สามัคคี ตำบลบ้านราษฎร์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา


สิ่งดึงดูดใจ
หาดชมตะวันเป็นหาดทรายน้ำจืดของเขื่อนลำปลายมาศ เป็นสถานที่ชมตะวันขึ้นและตกได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๙๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน จะมีนกเป็ดน้ำอพยพมาจากไซบีเรีย โดยแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกือบหนึ่งแสนคนต่อปี

สิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว
การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวมีความสะดวกสูงมาก โดยเป็นถนนลาดยางที่สามารถใช้เดินทางได้ตลอดทั้งปี มีรถประจำทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว มีร้านอาหารและป้อมยามจุดแจ้งเหตุพร้อมทั้งอาคารบริการของ อุทยานแห่งชาติทับลานคอยให้บริการ มีบริการล่องแพและเรือ




การเดินทาง จากนครราชสีมาไปอำเภอเสิงสาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 224 ต่อด้วยทางหลวง 2071 และ 2119 ตามลำดับ ระยะทาง 89 กิโลเมตร เมื่อถึงสี่แยกอำเภอเสิงสางเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง 2317 อีกประมาณ 15 กิโลเมตร

วัดศาลาลอย

วัดศาลาลอย ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยแยกจากถนนรอบเมืองไปประมาณ 500 เมตร วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับลำตะคองซึ่งไหลพาดผ่านตอนเหนือของตัวเมืองไปลงสู่แม่น้ำมูล ท้าวสุรนารีกับท่านปลัดสามีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370

จุดเด่นของวัดอยู่ที่พระอุโบสถซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2516 เป็นอุโบสถที่สร้างแบบศิลปไทยประยุกต์ เป็นรูปสำเภาโต้คลื่น ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องเวชสันดรชาดก (13 กัณฑ์) ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี

ด่านเกวียน


     ด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีทางหลวงหมายเลข 224 สายนครราชสีมาโชคชัยผ่านกลางหมู่บ้านซึ่งมีร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งและมีลำน้ำมูลทอดขนานอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกหมู่บ้าน ด่านเกวียนนั้นแต่เดิมพ่อค้าจากนางรอง - บรีรัมย์ - สุรินทร์ -ขุนหาญ - ขุขันธ์ เรื่อยไปจนถึงเขมรจะเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวโคราชและมักจะพักกองคาราวานเกวียนกัน เป็นประจำจนได้ชื่อ หมู่บ้านว่า" บ้านด่านเกวียน " และในขณะพัก พ่อค้าเหล่านั้นก็มักนำดินจากสองฟากฝั่งลำน้ำมูล มาทำภาชนะใช้สอยต่างๆ เช่น โอ่ง อ่าง ไหปลาร้า ฯลฯ โดยลอกเลียนแบบจากชนชาวข่าวซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่แต่เก่าก่อนหลังจากนั้นเมื่อนำภาชนะเหล่านั้นกลับภูมิลำเนาของตน และด้วยคุณภาพพิเศษ ของภาชนะทั้งในด้านสีสันความคงทนต่อการใช้งาน จึงทำให้ภาชนะด่านเกวียนเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนจนได้รับการเผยแพร่ มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้รับความสนใจยิ่ง จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งในการค้าขายกันในยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน....ลักษณะเฉพาะของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้นอยู่ที่ดินที่นำมาใช้ กล่าวคือดินด่านเกวียนเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล (ซึ่งห่างออกไปจากทางหลวง 224 ทางทิศตะวันออกประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร)ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด หรือแม่น้ำด้วน(ลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยว กัดเซาะตะลิ่งจนขาดและเกิดลำน้ำด้วนขึ้น ส่วนที่เป็นแนวกัดเซาะจะกลายเป็นแหล่งทับทมดิน ดินดังกล่าวนี้เป็นดินซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ง่ายต่อการขึ้นรูปทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือดินนี้เมื่อถูกเผาจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีแดงซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากธาตุเหล็ก (Iron Oxide) หรือสนิมเหล็กที่มีอยู่จำนวนมากในเนื้อดิน)
ครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน แต่เดิมมานั้นเป็นประเภทของใช้ในครัวเรือน เช่น โอ่ง อ่าง ครก 
ไหปลาร้า ต่อมาได้คิดทำที่รองขาตู้กับข้าว กระถางปลูกต้นไม้ ตะเกียงน้ำมันหมู โทน แจกัน การปั้นจะมีในช่วงฤดูหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เป็นงานอดิเรก คนปั้นจะต้องทำเองทั้งหมดตั้งแต่นวดดิน ปั้น เผา วันหนึ่ง ๆ จะปั้นเฉพาะแค่จำนวนพะมอนที่มีอยู่เท่านั้น ไม่ได้ปั้นเพื่อหวังจะให้ได้จำนวนมาก ๆ ดังนั้นในช่วงเช้าอาจจะนวดดิน ช่วงบ่าย ๆ ก็จะปั้น บางวันก็ทำ บางวันก็ไม่ทำ เมื่อได้มากพอสมควรแล้วจึงเผา หลังจากนั้นจะบรรทุกเกวียนนำไปแลกข้าว พริก เกลือ หรือมีพ่อค้าจากหมู่บ้านใกล้เคียงและอำเภออื่น ๆ เช่น บ้านยองแยง บ้านพระพุทธ บ้านพะไล พิมาย นางรอง ฯลฯ มาซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะบรรทุกคราวละประมาณ 50 ถึง 100 เล่มเกวียน มาพักแรมเพื่อรอรับเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้จะเริ่มทยอยมาตั้งแต่เดือนอ้าย เดือนยี่ จนถึงเดือนหก พอฝนเริ่มตกก็จะหยุดเพื่อกลับไปทำนา
     ราวปี พ.ศ. 2500 คณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรม นำโดย อาจาย์วทัญญู ณ ถลาง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) (จ.นครราชสีมา) ได้ร่วมกันสำรวจศิลปะพื้นบ้าน และพบความแปลกใหม่ของวัสดุดินด่านเกวียน จึงได้ร่วมมือกันออกแบบให้มีรูปทรงที่แปลก เช่น ม้ารองนั่ง (stool) ตะเกียงหิน แจกันลวดลายเรขาคณิต เพื่อใช้ตกแต่งภายในวิทยาลัย และช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของดินด่านเกวียนไปในหมู่สถาปนิกทั่วประเทศ ต่อมาได้มีผู้สนใจออกแบบให้มีรูปร่างที่แปลก ๆ และนำไปใช้ในงานตกแต่งภายใน ภายนอก และงานทางด้านสถาปัตยกรรมมากขึ้น ทำให้ชื่อเสียงของด่านเกวียนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ทั้งหมู่ชาวไทย และต่างประเทศปัจจุบันการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ได้ขยายแนวทางการออกแบบ ตลอดจนการนำไปใช้หลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยในการผลิต เช่น การใช้แบบหล่อปูนพลาสเตอร์ การใช้เครื่องจักรนวดดิน การใช้เครื่องอัดกระเบื้อง การเตรียมดิน เริ่มมีการใช้ดินขาวมาเป็นส่วนผสมบ้าง เอามาตกแต่งลวดลายบ้างวิธีนี้นอกจากจะขึ้นรูปด้วยการขึ้นแป้นหมุนแล้ว วิธีอิสระก็ได้รับความนิยมมากในหมู่ช่างปั้นพื้นบ้าน ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว การใช้แบบพิมพ์กด และการหล่อ เริ่มมีแต่ไม่มากนัก ส่วนการเคลือบมีเพียงแห่งเดียว คือ ร้านดินเผา การย้อมสีดินเผาให้เหมือนของเก่า เช่นการย้อมสีปลา และลวดลายกระเบื้องดินเผา มีเป็นส่วนน้อย
     สำหรับเรื่องการออกแบบ ที่นิยมกันมากนอกจากแจกัน โอ่ง อ่าง แล้ว ได้มีการประดิษฐ์นกฮูกแฝดตั้ง กระเช้าแขวนนกฮูก กระเช้ารูปปลาแขวน นกยูงเดี่ยว นกยูงคู่ แมว กบ คางคก รูปปลาตั้งหางสะบัด โคมไฟ กระถาง ส่วนประเภทของที่ระลึก ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มขัด พวงกุญแจ ตุ๊กตาดินเผา กระเบื้องประดับผนังดินเผา กระเบื้องปูพื้น